การคิดเชิงสังเคราะห์

การคิดเชิงสังเคราะห์  Synthesis – Type Thinking
1. ความหมายของการคิดเชิงสังเคราะห์
ารสังเคราะห์ หมายถึง การผสมผสานรวมกันอย่างกลมกลืน ของส่วนปะกอบต่างๆ 
จนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะ
การคิดเชิงสังเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการคิดที่ดึงองค์ประกอบต่างๆ มาหลอมรวมหรือถักทอภายใต้โครงร่างใหม่อย่าง เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การคิดเชิงสังเคราะห์ เป็นมิติการคิดที่ต้องออกแรงทั้งในด้านการค้นคว้ารวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะคิด ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วไป เมื่อได้ข้อมูลเหล่านั้นมาแล้วจะต้องออกแรงดึงแนวคิดจากส่วนประกอบเหล่านั้น คัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวโยงกับเรื่องที่คิดและไม่เพียงการดึงแนวคิดจากแหล่งต่างๆ มากองรวมกันเท่านั้น แต่ยังต้องนำมาเข้าเตาเผาหลอมรวมแนวคิดเหล่านั้นหรือถักทอความคิดต่างๆ ให้อยู่ภายใต้ตัวแบบโครงร่างเดียวกันซึ่งได้กำหนดขึ้น 
2. ระเภทของการคิดสังเคราะห์
การคิดสังเคราะห์แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
2.1. การคิดเชิงสังเคราะห์เพื่อการสร้าง สิ่งใหม่” ซึ่งเป็นการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆตามความต้องการของเรา
2.2. การคิดเชิงสังเคราะห์เพื่อการสร้าง แนวคิดใหม่” อันเป็นการพัฒนาและคิดค้นแนวความคิดใหม่ๆ ในประเด็นต่าง ๆ ตามที่เราตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้
หากเราสามารถคิดเชิงสังเคราะห์ได้ดี จะทำให้เราสามารถพัฒนาความคิดหรือสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน องค์กร ครอบครัวและตัวของเราซึ่งในแต่ละรูปแบบของการคิดจะมีวิธีการหรือเทคนิคการฝึกฝนที่แตกต่างกันออกไป  กล่าวโดยสรุปการคิดเชิงสังเคราะห์เป็นมิติการคิดที่ต้องอาศัยความสามารถในการรวบรวมข้อมูลและทักษะในการดึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะมีเป็นจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แต่คัดสรรมาเฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่จะคิดนำมาหลอมรวม/ถักทอ/ผสมผสาน ให้อยู่ภายใต้โครงร่างเดียวกันเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือแนวคิดให้เพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนมาก การพัฒนาทักษะการคิดเชิงสังเคราะห์จึงเหมาะสำหรับทุกกลุ่มคน ทุกเพศและทุกวัย ซึ่งจะทำให้เราได้รับการเสริมสร้างให้เป็นคนหนึ่งที่มีคุณภาพสามารถรังสรรค์ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติของเราอย่างเต็มศักยภาพ
3. กระบวนการของการคิดเชิงสังเคราะห์
การคิดเชิงสังเคราะห์ มีกระบวนการคิดที่สำคัญ 7 ขั้นตอน ดังนี้
3.1. การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของเรื่องที่ต้องการคิดเชิงสังเคราะห์ จะทำให้เราพบความสำเร็จไปแล้วเกินครึ่ง เนื่องจากเราจะทราบว่าหนทางที่ควรจะดำเนินต่อไปเป็นอย่างไร 
3.2. การกำหนดขอบเขตของประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะใช้เป็นกรอบในการค้นหาแหล่งข้อมูล โดยอาจเริ่มต้นที่ความคิด ความรู้ ความจำ หรือประสบการณ์เดิมที่เราเคยมี หากเราจะเริ่มทำการสังเคราะห์ จะต้องมีประเด็นอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง การกำหนดขอบเขต เปรียบเสมือนการหล่อแบบพิมพ์ไว้ เพื่อเตรียมเทข้อมูลต่างๆ ที่ผสมผสานกันแล้วลงในแบบพิมพ์ จนได้รูปลักษณ์และคุณภาพตามที่เราต้องการ
3.3. การกำหนดลักษณะของสิ่งที่จะนำมาสังเคราะห์ การจะเป็นผู้คิดเชิงสังเคราะห์ได้ดี จำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลที่ดี และเป็นข้อมูลที่ได้รับการกลั่นกรองอย่างน่าเชื่อถือมาแล้วระดับหนึ่ง เป็นแหล่งข้อมูลที่มีความชำนาญ ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นและกว้างไกล
3.4. การดึงเฉพาะแนวคิด (Concept) ที่เกี่ยวข้องมาใช้ โดยคัดสรรเฉพาะแก่นความคิดของข้อมูลที่ ตอบวัตถุประสงค์ของเรา โดยไม่สนใจรายละเอียดหรือประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งวิธีการจัดแนวคิดนั้น ต้องระดมสมองและใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยวิเคราะห์และนำเสนอประเด็นที่มาจากภูมิปัญญาของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน โดยที่ผู้เชี่ยวชาญจะแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย มีความเป็นอิสระ ไม่มีการเผชิญหน้ากัน เพื่อป้องกันไม่ไห้ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง ส่งผลโน้มน้าวผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่ง อันจะทำให้การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น อาจเอนเอียงไปจากความตั้งใจเดิมที่ควรจะเป็น 
3.5. การจัดเรียงแนวคิดตามโครงที่ตั้งไว้ หรือสร้างแกนความคิดใหม่เพื่อตอบวัตถุประสงค์เมื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมารวมกัน โดยแยกตามประเภทแล้ว จากนั้นนำมาจัดระเบียบข้อมูลของแต่ละประเภท ให้มีประเด็นใหญ่ ประเด็นย่อย ตามลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม 
3.6. ขั้นทดสอบโครงร่างใหม่ เพื่อพิจารณาว่าโครงร่างใหม่ที่สร้างขึ้นมีความเหมาะสมหรือไม่ ดีที่สุดแล้วหรือยัง มีสิ่งใดต้องปรับเปลี่ยน จากนั้นจึงนำมาปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบต่อไป 
3.7. การนำสิ่งที่สังเคราะห์ได้ไปใช้ประโยชน์ เมื่อเราได้ตัวแบบการสังเคราะห์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วนั้น ให้เรานำข้อมูลความคิดที่ได้จากการสังเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
4. เทคนิควิธีการคิดเชิงสังเคราห์
เทคนิคขั้นตอนในการคิดเชิงสังเคราะห์ มีดังนี้
4.1. กำหนดวัตถุประสงค์ของสิ่งใหม่ที่ต้องการสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้น
4.2. ศึกษาส่วนประกอบหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
4.3. เลือกและนำข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์มาจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับสร้างสิ่งใหม่
4.4. สร้างสิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดที่กำหนดโดยการผสมผสานส่วนประกอบ/ข้อมูลที่เลือกรวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ตามความเหมาะสมและความจำเป็น
4.5. ตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม ปรับปรุงแก้ไข และนำไปใช้ประโยชน์
5. ตัวอย่างคำถามหรือคำสั่งที่ต้องใช้การคิดสังเคราะห์
5.1. จากที่เรียนมาแล้วเกี่ยวกับ " นิทานอีสป เรื่อง สุนัขกับชิ้นเนื้อ " ให้นักเรียนวาดภาพที่แสดงความสอดคล้องกับข้อความดังกล่าว
5.2. เขียนสรุปสาระสำคัญของสิ่งที่เรียนเป็นแผนผังความคิด
5.2. ให้ร่วมกันจัดทำโครงงานจากเรื่องที่เรียนมาแล้ว 1 เรื่อง
5.3. จากเนื้อหาที่เรียน นักเรียนคิดว่าควรปฏิบัติตามใคร เพราะเหตุใด
5.4. ให้ออกแบบสิ่งของต่าง ๆ จากวัสดุที่มีอยู่
5.5. ให้แต่งคำประพันธ์ บทกลอน โคลง ที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน
5.6. ให้ประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
6. การพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดเชิงสังเคราะห์
        การคิดสังเคราะห์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ และสามารถส่งเสริมได้โดยฝึกดังนี้
6.1. ไม่พอใจสิ่งเดิม ชอบถามหาสิ่งใหม่ ชอบแสวงหา ชอบการเปลี่ยนแปลง
6.2. ไม่นิ่งเฉย ชอบสะสมข้อมูล ทำให้มีวัตถุดิบทางความคิดมากเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการสังเคราะห์สิ่งต่าง ๆ
6.3. มีความเข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ นำมาเชื่อมโยงอย่างสมเหตุและสมผล
6.4. ไม่แปลกแยก ชอบผสมผสาน การผสมผสานองค์ประกอบหรือความคิดที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเข้าด้วยกัน โดยผสมผสานอย่างกลมเกลียว และเชื่อมโยงอย่างสมเหตุสมผล
6.5. ไม่คลุมเครือ ชอบความคมชัดในประเด็น เข้าใจว่าแนวความคิดหนึ่งประกอบด้วยประเด็นหลักหรือประเด็นรองอะไรบ้าง ฝึกจับประเด็นบทความ หนังสือ หนังสือพิมพ์
6.6. ไม่ลำเอียง ชอบวางตนเป็นกลาง ไม่อคติต่อข้อมูลที่ได้ ต้องแยกความรู้สึกออกจากข้อเท็จจริง
6.7. ไม่ยุ่งเหยิง ชอบระบบระเบียบ
6.8. ไม่ท้อถอย มีความมานะพากเพียร
7เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องคิดเชิงสังเคราะห์
7.1. เพื่อช่วยหาทางออกของปัญหาโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราไม่ต้องคิดสิ่งต่างๆ ราวกับว่าสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่สามารถนำสิ่งที่คนอื่นคิดหรือได้ปฏิบัติมาแล้วมาใช้ประโยชน์โดยดูจากเรื่องเดียวกันในหลายๆ ที่ หลายๆ แห่ง ทั้งที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงและที่เกี่ยวข้องกันโดยอ้อมเอามาผสมผสานกันเป็นทางออกของปัญหา
7.2. เพื่อช่วยให้มีความเข้าใจที่คมชัดและครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ 
7.3. เพื่อช่วยขยายขอบเขตความสามารถของสมอง
เนื่องจากสมองมีข้อจำกัดด้านความจำ ขอบเขตความทรงจำจึงจำกัดอยู่ในเรื่องที่เรามีความสนใจ เรื่องที่คนส่วนใหญ่ให้คุณค่าหรือเรื่องที่เราเคยมีประสบการณ์มาก่อนซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ดีแต่ข้อด้อยคือ ทำให้เราไม่เก็บทุกๆเรื่องที่ควรรู้ได้ทั้งหมด ความทรงจำที่จำกัดจึงอาจนำเราไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด อันเนื่องจากการคิดบนพื้นฐานที่ไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้วิธีการที่ดีกว่าคือนอกจากเราจะนำความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเรื่องนั้นๆ อันใดอันหนึ่งที่มีอยู่ในสมองออกมาใช้ เราควรพยายามดึงลิ้นชักความจำอื่นที่อาจเกี่ยวข้องทางอ้อมกับประเด็นนั้นๆ รวมถึงการพยายามสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ ภายนอกนำมาสังเคราะห์เข้าด้วยกันเพื่อทำให้เราได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถนำมาใช้การได้จริงและประสบความสำเร็จในที่สุดอันจะทำให้เราเอาชนะขีดความจำกัดของสมองได้อย่างแท้จริง
7.4. ข้อมูลที่สังเคราะห์จะเป็นประโยชน์ในการติดต่อยอดความรู้
7.5. เพื่อช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่                                                                        

เรียบเรียงข้อมูลโดย
นักศึกษาปริญญาโท สาขาหลักสูตรและการสอน
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิธีการสร้างสุขให้เด็กปฐมวัย เด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจากประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆที่เด็กได้รับ ประสบการณ์เหล่านี้จ...